วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แนวคิดเกี่ยวกับความรู้


                   ความรู้ (Knowledge) ในทัศนะของฮอสเปอร์นับว่าเป็นขั้นแรกของพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการจดจำ ซึ่งอาจจะโดยการนึกได้ มองเห็น ได้ยิน หรือ ได้ฟัง ความรู้นี้ เป็นหนึ่งในขั้นตอนของการเรียนรู้ โดยประกอบไปด้วยคำจำกัดความหรือความหมาย ข้อเท็จจริง ทฤษฎี กฎ โครงสร้าง วิธีการแก้ไขปัญหา และมาตรฐานเป็นต้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความรู้เป็นเรื่องของการจำอะไรได้ ระลึกได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดที่ซับซ้อนหรือใช้ความสามารถของสมองมากนัก ด้วยเหตุนี้ การจำได้จึงถือว่าเป็น กระบวนการที่สำคัญในทางจิตวิทยา และเป็นขั้นตอนที่นำไปสู่พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเข้าใจ การนำความรู้ไปใช้ในการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การประเมินผล ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ได้ใช้ความคิดและความสามารถทางสมองมากขึ้นเป็นลำดับ ส่วนความเข้าใจ (Comprehension) นั้น ฮอสเปอร์ ชี้ให้เห็นว่า เป็นขั้นตอนต่อมาจากความรู้ โดยเป็นขั้นตอนที่จะต้องใช้ความสามารถของสมองและทักษะในชั้นที่สูงขึ้น จนถึงระดับของการสื่อความหมาย ซึ่งอาจเป็นไปได้โดยการใช้ปากเปล่า ข้อเขียน ภาษา หรือการใช้สัญลักษณ์ โดยมักเกิดขึ้นหลังจากที่บุคคลได้รับข่าวสารต่างๆ แล้ว อาจจะโดยการฟัง การเห็น การได้ยินหรือเขียน แล้วแสดงออกมาในรูปของการใช้ทักษะหรือการแปลความหมายต่างๆ เช่น การบรรยายข่าวสารที่ได้ยินมาโดยคำพูดของตนเองหรือการแปลความหมายจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง โดยคงความหมายเดิมเอาไว้ หรืออาจเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อสรุปหรือการคาดคะเนก็ได้  (วิกิพีเดีย.   2550)

                   1.   ความหมายของความรู้    ความรู้เป็นการเรียนรู้ที่เน้นถึงความจำและการระลึกได้และประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นความจำที่เริ่มจากสิ่งที่ง่ายๆ ที่เป็นอิสระแก่กันไปจนถึงความจำในสิ่งที่ยุ่งยากซับซ้อนและมีความหมายแก่กัน 
                    ประภาเพ็ญ สุวรรณ (2520 : 16) ให้ความหมายว่าความรู้เป็นพฤติกรรมขั้นต้น ซึ่งผู้เรียนเพียงแต่จำได้อาจจะโดยการนึกได้หรือโดยการมองเห็นหรือได้ยินความรู้ขั้นนี้ ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับคำจำกัดความ ความหมาย ข้อเท็จจริง ทฤษฎี  กฎ  โครงสร้างและวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นต้น  ในขณะที่วิชัย  วงษ์ใหญ่  (2523 : 130)  ให้ความหมายของความรู้ว่าเป็นพฤติกรรมเบื้องต้นที่ผู้เรียนสามารถจำได้หรือระลึกได้โดยการมองเห็นได้ยินความรู้ในที่นี้  คือ  ข้อเท็จจริง  กฎเกณฑ์  คำจำกัดความ  เป็นต้น
                    ชวาล  แพรัตกุล  (2526 : 201)  ได้ให้ความหมายของความรู้ว่า  เป็นการแสดงออกของสมรรถภาพสมองด้านความจำ  โดยใช้วิธีระลึกออกมาเป็นหลัก  และจิตรา  วสุวานิช  (2528 : 6)  ได้ให้ความหมายของความรู้ว่า  เป็นการจำข้อเท็จจริง  เรื่องราว  รายละเอียด  ที่ปรากฏในตำรา  หรือสิ่งที่ได้รับการบอกกล่าวได้
                    จากความหมายดังกล่าวสรุปได้ว่าความรู้ หมายถึง  การที่บุคคลสามารถจดจำ รับรู้ข้อมูล  ข้อเท็จจริงกฎเกณฑ์ต่างๆ  ซึ่งเกิดจากการค้นคว้า การสังเกตและประสบการณ์ที่ต้องอาศัยเวลา  สามารถแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมโดยสามารถสังเกตได้ วัดได้  และถ่ายทอดให้บุคคลอื่นรับทราบ
                   2.  การวัดความรู้    เครื่องมือในการวัดความรู้มีหลายชนิด แต่ละชนิดก็เหมาะสมกับการวัดความรู้ตามคุณลักษณะซึ่งแตกต่างออกไปในที่นี้จะกล่าวถึงเครื่องมือที่ใช้วัดความรู้ที่นิยมใช้กันมากคือ  แบบทดสอบหรือแบบวัดซึ่ง (ไพศาล  หลังพานิช.   2526 : 35-36)  ได้จำแนกรูปแบบทดสอบหรือแบบวัดได้  3  ลักษณะ  คือ
                        1) ข้อสอบปากเปล่า  เป็นการทดสอบโดยโต้ตอบด้วยวาจาหรือคำพูดระหว่างผู้ทำการสอบกับผู้สอบโดยตรง  หรือบางครั้งเรียกว่า  การสัมภาษณ์
        2)  ข้อสอบข้อเขียน  สามารถแบ่งออกเป็น  2  แบบคือ
                                (1) แบบความเรียงเป็นแบบที่ต้องการให้ผู้ตอบอธิบาย บรรยาย ประพันธ์ หรือวิจารณ์เรื่องราวที่เกี่ยวกับความรู้นั้น
                         (2) แบบจำกัดคำตอบเป็นข้อสอบที่ใช้ผู้ถูกพิจารณา  เปรียบเทียบตัดสิน  ข้อความหรือรายละเอียดต่างๆ  ซึ่งมีอยู่  4  แบบ  คือ  แบบถูก-ผิด  แบบเติมคำ  แบบจับคู่  แบบเลือกตอบ 
                           3) ข้อสอบภาคปฏิบัติ  เป็นข้อสอบไม่ต้องการให้ตอบสนองด้วยคำพูด  แต่มุ่งให้แสดงพฤติกรรมจริง
                   การวัดความรู้ในการศึกษาครั้งนี้ใช้แบบทดสอบแบบให้เลือกตอบถูก-ผิดเป็นเครื่องมือในการวัดความรู้ในประเด็นความรู้เกี่ยวกับมูลฝอยและการจัดการมูลฝอย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น